รูปแบบศิลปกรรม
ส่วนหน้าบันของซุ้มประตูทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ชำรุดเสียหายไปแต่ยังหลงเหลือร่องรอยภาพสลักรูปม้าและขาของบุคคลในท่าทางต่อสู้กัน ระบุได้ว่าเป็นเรื่องพระกฤษณะปราบม้าเกศิน ทับหลังสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาท่อนพวงมาลัยที่มีร่องรอยของภาพบุคคลบริเวณกลางทับหลังที่หลุดลอกไป ทับหลังจึงกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่17-18
ประติมานวิทยา
พระกฤษณะเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุในทศาวตารหรือที่เรียกกันว่านารายณ์สิบปาง ในปางที่ชื่อว่ากฤษณาวตาร อวตารชาติที่8ของพระวิษณุ โดยตอนพระกฤษณะปราบม้าเกศินเป็นตอนย่อยในกฤษณาวตารอีกที เรื่องราวมีอยู่ว่าพญากังสะเป็นอสูรที่ชั่วร้ายและประกาศห้ามผู้คนกระทำบูชาต่อพระวิษณุ พระวิษณุทอดพระเนตรความเดือดร้อนที่พญากังสะกระทำจึงอวตารลงไปปราบอสูรตนนี้ในนามพระกฤษณะ พญากังสะได้รับคำทำนายจากเทพธิดาว่าบัดนี้ผู้ที่สามารถสังหารพญากังสะได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว พญากังสะจึงต้องการจะสังหารเด็กที่มีพลังอำนาจที่จะสามารถสังหารตนได้ จึงส่งอสูรมาทำร้ายพระกฤษณะตั้งแต่ยังเยาว์หลายครั้งหลายหน หนึ่งในนั้นก็คือการส่งอสูรรูปม้าชื่อเกศินไปลอบทำร้ายพระกฤษณะที่เมืองมถุราแต่ถูกพระกฤษณะสังหารได้สำเร็จ