รูปแบบศิลปะ
พระวิษณุองค์นี้มีเค้าโครงคล้ายกับพระวิษณุในศิลปะปัลลวะตอนต้นของอินเดียใต้ กล่าวคือสวมหมวกทรงกระบอกเรียบและนุ่งโธตียาวเรียบ ไม่มีเครื่องตกแต่ง โดยลักษณะดังกล่าวปรากฏเช่นกันกับพระวิษณุจำนวนมากที่ค้นพบในจังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดปราจีนบุรี ในประเทศไทย ประติมากรมักกำหนดให้ใช้คทาและชายผ้าคาดเป็นเครื่องค้ำยัน เพื่อให้ประติมากรรมพระวิษณุแข้งแรงขึ้น
ประติมานวิทยา
พระวิษณุผู้ดูแลโลกและพระเป็นเจ้าสูงสุดในลัทธิไวษณพนิกาย ทรงถือของสี่ประการ คือ จักร สังข์ คทาและธรณี โดยของถือแต่ละประการล้วนแต่แสดงคุณสมบัติและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ในทุกๆด้าน เช่น ทรงถือจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระสูรยะนั้น ก็เนื่องด้วยทรงเป็นเจ้าแห่งแสงสว่างที่แผ่ซ่านไปทุกทิศ เป็นต้น ประติมากรรมชิ้นนี้ พระวิษณุทรงถือจักร (และสังข์) ที่พระหัตถ์คู่หลัง ส่วนพระหัตถ์คู่หน้าถือธรณีและคทา อันเป็นลักษณะของศิลปะปัลลวะในศิลปะอินเดียใต้ ซึ่งตอบรับกับรูปแบบศิลปะ