รูปแบบศิลปะ
พระวิษณุ 4 กร พระพักตร์ค่อนข้างกลม ทรงสวมหมวกทรงกระบอกเรียบ ทรงกุณฑลรูปวงกลมขนาดใหญ่ ด้านหลังพระเศียรมีแผ่นประภามณฑล เรียบ พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์ พระหัตถ์ขวาหน้าทรงถือก้อนดินที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมอยู่แนบพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบอง พระวรกายท่อนบนเปลือยเปล่า ทรงผ้านุ่งแบบโธตียาวถึงข้อพระบาท เรียบ แนบพระวรกาย ด้านหน้ามีชายผ้าตกลงมา คาดผ้าตรงโดยทิ้งชายผ้าออกมาด้านข้าง จากลักษณะดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่าที่พบในภาคใต้ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13
ส่วนองค์พระวิษณุ ส่วนพระเศียรหายไปแล้ว แต่จากบริเวณต้นพระพาหามีรอยสลักแสดงลักษณะว่ามี 4 กร ประทับยืนตรง ทรงผ้านุ่งโธตรียาวจนถึงข้อพระบาท เรียบ บางแนบพระวรกาย ด้านบนมีปมนูนที่เกิดจากการขมวดผ้า ด้านหน้ามีชายผ้าทบซ้อนกัน คาดเข็มขัดที่มัดเกี่ยวกันและทิ้งชายให้ตกลงมาทางด้านซ้าย-ขวา น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 คล้ายคลึงกับศิลปะหลังคุปตะของอินเดีย และเทวรูปรุ่นเก่าที่พบในประเทศไทย
ประติมานวิทยา
ข้อสังเกตที่ทำให้ทราบว่าคือพระวิษณุ ได้แก่ มี 4 กร ทรงถือจักร สังข์ คฑา ธรณี นุ่งผ้าโธตียาวเรียบบางแนบพระวรกายและสวมหมวกทรงกระบอก
พบที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ อันได้แก่พื้นที่บริเวณอำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอระโนดและอำเภอกระแสสินธุ์ ของจังหวัดสงขลา ได้ค้นพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนมากที่เป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงอารยธรรมความเจริญบริเวณคาบสมุทรสทิงพระตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์