รูปแบบศิลปะ
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประทับยืนตรงอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีกลีบบัวขนาดใหญ่ มีพระพักตร์รูปไข่ ทรงชฎามกุฎ เส้นพระเกศาเกล้ามวยขึ้นไปก่อนจะทิ้งตกลงมาด้านข้าง ด้านหน้าชฎามกุฎมีรูปพระอมิตาภะ (พระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระแสดงปางประทานอภัยและคล้องสร้อยลูกประคำไว้ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหักชำรุด พระวรกายท่อนบนเปลือย ทรงนุ่งผ้าโธตียาว เหน็บชายผ้าด้านหนึ่งไว้ทางด้านซ้าย และปล่อยตกลงมา ผ้านุ่งเป็นริ้วคู่ มีเข็มขัดคาด จัดอยู่ในศิลปะศรีวิชัยแบบท้องถิ่น มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
ประติมานวิทยา
ด้วยที่ชฎามกุฎมีรูปพระอมิตาภะ (พระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ) ประดับอยู่ และพระหัตถ์ขวาคล้องสร้อยลูกประคำไว้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนักบวช จากลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ทราบว่ารูปเคารพนี้ คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พบที่หมู่ที่ 1 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง นายช้อย เพชรกาฬ มอบให้