รูปแบบศิลปะ
พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำบัวหงายที่กลีบบัวมีขนาดใหญ่ แต่ละกลีบเป็นกลีบบัวซ้อนกัน 2 ชั้น พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบต่ำ ไม่มีอุณาโลม ขมวดพระเกศาขมวดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่มาก อุษณีษะปูดขึ้นมาเล็กน้อย ครองจีวรห่มเฉียง จีวรเรียบ บางแนบพระวรกาย จากลักษณะที่กล่าวเป็นรูปแบบที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะอมราวดีคือ พระพักตร์กลม ขมวดพระเกศามีขนาดใหญ่ และก็ยังมีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะคุปตะ-หลังคุปตะ ของอินเดีย ตรงที่ครองจีวรห่มเฉียงเรียบ บางแนบพระวรกาย การผสมสผสานลักษณะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นพื้นเมือง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับพระในศิลปะทวารวดีและฟูนัน น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
ประติมานวิทยา
พบที่บ้านพังแฟม ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ อันได้แก่พื้นที่บริเวณอำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอระโนดและอำเภอกระแสสินธุ์ ของจังหวัดสงขลา ได้ค้นพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนมากที่เป็นหลักฐานสำคัญแสดงถึงอารยธรรมความเจริญบริเวณคาบสมุทรสทิงพระตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์