รูปแบบศิลปะ
ด้านหน้าอุโบสถ วัดสุวรรณคีรี เป็นที่ประดิษฐานถะศิลาแบบจีนขนาดใหญ่ มีลักษณะสำคัญคือ ด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคารซ้อนชั้นโดยมีทั้งหมด 6 ชั้น และอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ ถะ คือ สถูปทรงอาคารซึ่งเป็นแบบเฉพาะที่ชาวจีนพัฒนาขึ้นมาโดยมีทั้งทรงสี่เหลี่ยม และทรงแปดเหลี่ยม โดยตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งลงมา ปรากฏแต่ถะทรงแปดเหลี่ยมเท่านั้น
ที่ชั้นที่สองของส่วนกลาง ปรากฏจารึกภาษาจีน โดยด้านหนึ่งเขียนว่า “嘉庆四年”อ่านว่า “เจียงชิ่งซื่อเหนียน” แปลว่า ปีที่สี่แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง ซึ่งอยู่ในปีพ.ศ. 2342 อันตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 หลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ถะองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ถะองค์นี้คงแกะสลักและนำเข้ามาจากเมืองจีน ทั้งนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวสยามมีความนิยมนำเข้าประติมากรรมศิลาจากเมืองจีนเป็นจำนวนมาก